Chinese (Simplified) French German Italian Japanese Korean Lao Malay Myanmar (Burmese) Russian Spanish English Thai

กฎหมายและระเบียบ

พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

พระราชบัญญัติ

สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล

พ.ศ. 2537

—————

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537

เป็นปีที่ 49 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ

โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารของตำบล

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและ

ยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การ

บริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537″

 

มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วัน

ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

*[รก.2537/53ก/11/2 ธันวาคม 2537]

 

มาตรา 3  ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326 ลงวันที่ 13 ธันวาคม

พ.ศ. 2515

บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัติ

นี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

 

มาตรา 4  ในพระราชบัญญัตินี้

“หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า เทศบาล สุขาภิบาล และ

ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น แต่ไม่รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด

“นายอำเภอ” หมายความรวมถึงปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอด้วย

“ตำบล” หมายความว่า ตำบลตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ที่อยู่

นอกเขตหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น และในกรณีที่ตำบลใดมีพื้นที่อยู่ทั้งในและนอกเขต

หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ให้หมายความถึงเฉพาะพื้นที่ที่อยู่นอกเขตหน่วยการบริหาร

ราชการส่วนท้องถิ่น

“คณะกรรมการบริหาร” หมายความว่า คณะกรรมการบริหารองค์การบริหาร

ส่วนตำบล

“กรรมการบริหาร” หมายความว่า กรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล

 

มาตรา 5  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการ

ตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่มีผลเป็นการทั่วไป เมื่อได้ประกาศ

ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

หมวด 1

สภาตำบล

—————

 

มาตรา 6  ในตำบลหนึ่งให้มีสภาตำบลสภาหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพระราช

บัญญัตินี้

ให้สภาตำบลมีฐานะเป็นนิติบุคคล

 

ส่วนที่ 1

สมาชิกสภาตำบล

—————

 

มาตรา 7  สภาตำบลประกอบด้วยสมาชิกโดยตำแหน่งได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

ของทุกหมู่บ้านในตำบล และแพทย์ประจำตำบล และสมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในแต่ละ

หมู่บ้านในตำบลนั้นเป็นสมาชิกสภาตำบลหมู่บ้านละหนึ่งคน

มาตรา 8  ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ

ตาม (1) และ (2) และไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (3) และ (4) ดังต่อไปนี้

*(1) มีสัญชาติไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่

มีการเลือกตั้ง

(2) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นประจำและมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมาย

ว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในหมู่บ้านในตำบลนั้นเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามเดือนจนถึงวัน

เลือกตั้ง

(3) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

(4) เป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

*[มาตรา 8 (1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2538]

 

มาตรา 9  ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งต้องเป็น

ผู้มีคุณสมบัติตาม (1) และ (2) และไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (3) ถึง (11) ดังต่อไปนี้

*(1) มีสัญชาติไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง แต่บุคคลผู้มี

สัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าว ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย

(2) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นประจำและมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมาย

ว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในหมู่บ้านในตำบลนั้นเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือนจนถึงวัน

สมัครรับเลือกตั้ง

(3) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

(4) เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพ วิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ติดยา

เสพติดให้โทษ หรือเป็นโรคตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศกำหนดไว้สำหรับ

คุณสมบัติของผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

(5) เป็นสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือ

พนักงานองค์การของรัฐ

(6) เป็นผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หรือสารวัตรกำนัน

(7) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ

รัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่าทุจริตต่อหน้าที่

(8) เคยถูกผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ออกจากตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์

ประจำตำบลตามพระราชบัญญัตินี้

 

(9) เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกโดยพ้นโทษมาแล้วไม่ถึง

สามปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(10) เป็นผู้มีพฤติกรรมในทางทุจริตหรือเสื่อมเสียทางศีลธรรม

(11) เคยถูกผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งหรือสภาตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิก

ซึ่งได้รับเลือกตั้ง เว้นแต่จะพ้นห้าปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งจนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

*[มาตรา 9 (1) แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2538]

 

มาตรา 10  ให้นายอำเภอจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้ง

ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในระเบียบของกระทรวงมหาดไทย

 

มาตรา 11  สมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ป

ีนับแต่วันเลือกตั้ง

ในกรณีที่สมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งดำรงตำแหน่งครบวาระแล้วแต่ยังมิได้

มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งขึ้นใหม่ ให้สมาชิกสภาตำบลโดยตำแหน่งปฏิบัติ

หน้าที่ได้ต่อไป

 

มาตรา 12  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ สมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับ

เลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) ตาย

(2) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายอำเภอ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าพ้นจาก

ตำแหน่งนับแต่วันลาออก

(3) มีการยุบสภาตำบล

*(4) เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับสภาตำบลที่ตนดำรง

ตำแหน่งหรือในกิจการที่กระทำให้แก่สภาตำบลนั้น

(5) สภาตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งโดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางที่จะนำมา

ซึ่งความเสื่อมเสียประโยชน์ของตำบล มติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของ

จำนวนสมาชิกสภาตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

(6) นายอำเภอสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เมื่อได้สอบสวนแล้วปรากฏว่าเป็นผู้ขาด

คุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 9 หรือมิได้อยู่ประจำในหมู่บ้านที่ได้รับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันเกินหกเดือน หรือขาดการประชุมสภาตำบลติดต่อกันสามครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

(7) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เมื่อได้สอบสวนแล้วปรากฏว่า

บกพร่องในทางความประพฤติ

*[อนุ (4) ของมาตรา 12 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3)

พ.ศ. 2542 และวรรคสองของมาตรา 12 ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 13  เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลงเพราะครบวาระ

การดำรงตำแหน่งหรือมีการยุบสภาตำบล ให้มีการเลือกตั้งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ครบวาระ

หรือวันที่ยุบสภาตำบล แล้วแต่กรณี

 

มาตรา 14  เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งว่างลงเพราะเหตุอื่นใด

นอกจากครบวาระหรือมีการยุบสภาตำบล ให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างภายในหกสิบวัน

นับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งที่เหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะ

ไม่ดำเนินการเลือกตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้

ให้สมาชิกสภาตำบลผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่

เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

 

มาตรา 15  เมื่อมีการยุบและรวมเขตหมู่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครอง

ท้องที่ให้สมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งของหมู่บ้านเดิมที่ถูกยุบหรือถูกรวมยังคงเป็นสมาชิก

สภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งอยู่ต่อไปจนกว่าสมาชิกภาพจะสิ้นสุดลงตามมาตรา 12

เมื่อมีการแยกพื้นที่บางส่วนของหมู่บ้านใดขึ้นเป็นหมู่บ้านใหม่ ให้สมาชิกสภา

ตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งของหมู่บ้านเดิมยังคงเป็นสมาชิกสภาตำบล ซึ่งได้รับเลือกตั้งอยู่ต่อไปจนกว่าสมาชิกภาพจะสิ้นสุดลงตามมาตรา 12 และให้นายอำเภอจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งสำหรับหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อเป็นสมาชิกสภาตำบลที่หมู่บ้านนั้นอยู่ในเขตภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ประกาศตั้งหมู่บ้านใหม่ และให้ผู้ได้รับเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ของสมาชิกอื่นในตำบลนั้น เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งที่เหลืออยู่ไม่ถึง

หนึ่งร้อยแปดสิบวันจะไม่ดำเนินการเลือกตั้งก็ได้

 

มาตรา 16  สภาตำบลมีกำนันเป็นประธานสภาตำบล และมีรองประธานสภา

ตำบลคนหนึ่งซึ่งนายอำเภอแต่งตั้งจากสมาชิกสภาตำบลตามมติของสภาตำบล

รองประธานสภาตำบลมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี

 

รองประธานสภาตำบลพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งตาม

วรรคสอง เมื่อ

(1) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายอำเภอ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าพ้นจาก

ตำแหน่งนับแต่วันลาออก

(2) พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาตำบลตามมาตรา 12

 

มาตรา 17  ประธานสภาตำบลเป็นผู้เรียกประชุมสภาตำบล และมีหน้าที่

ดำเนินการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

รองประธานสภาตำบลมีหน้าที่กระทำกิจการแทนประธานสภาตำบลเมื่อประธาน

สภาตำบลไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือตามที่ประธานสภาตำบลมอบหมาย

เมื่อประธานสภาตำบลและรองประธานสภาตำบลไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิก

สภาตำบลที่มาประชุมเลือกกันเองเป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

 

มาตรา 18  ให้มีการประชุมสภาตำบลไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง การประชุม

ต้องมีสมาชิกสภาตำบลมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาตำบลทั้งหมดเท่าที่

มีอยู่จึงจะเป็นองค์ประชุม

การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นใน

พระราชบัญญัตินี้

สมาชิกสภาตำบลคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน

ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 

มาตรา 19  สภาตำบลมีเลขานุการสภาตำบลคนหนึ่งซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการที่

ปฏิบัติงานในตำบลนั้นหรือจากบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8

ให้นายอำเภอเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขานุการสภาตำบลตามมติของสภาตำบล

 

มาตรา 20  เลขานุการสภาตำบลมีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการและการจัดการ

ประชุมและงานอื่นใดตามที่สภาตำบลมอบหมาย

 

มาตรา 21  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้สมาชิกสภาตำบลและ

เลขานุการสภาตำบลเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 

ส่วนที่ 2

อำนาจหน้าที่ของสภาตำบล

—————

                    มาตรา 22  สภาตำบลมีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลตามแผนงานโครงการ

และงบประมาณของสภาตำบล เสนอแนะส่วนราชการในการบริหารราชการและพัฒนาตำบล

ปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตำบลตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และหน้าที่อื่น

ตามที่กฎหมายกำหนด

 

มาตรา 23  ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย สภาตำบลอาจดำเนินกิจการภายในตำบล

ดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร

(2) จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก

(3) จัดให้มีและรักษาทางระบายน้ำ และรักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ

ทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล

(4) คุ้มครองดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

(5) บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร

(6) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

 

มาตรา 24* กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตาม

พระราชบัญญัตินี้ ต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับสภาตำบล

ที่ตนดำรงตำแหน่งหรือในกิจการที่กระทำให้แก่สภาตำบลนั้น

ในกรณีที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบลกระทำการฝ่าฝืนตามที่บัญญัติ

ในวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้บุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ

แพทย์ประจำตำบล แล้วแต่กรณี โดยให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากตำแหน่งเพราะบกพร่องในทาง

ความประพฤติหรือความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครอง

ท้องที่

*[วรรคหนึ่งของมาตรา 12 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3)

พ.ศ. 2542]

 

 

มาตรา 25  ในการปฏิบัติหน้าที่ของกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วย

ลักษณะปกครองท้องที่ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการใดที่กำหนดไว้แล้วในแผนพัฒนาตำบล ให้กำนัน

และผู้ใหญ่บ้านดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาตำบล

 

มาตรา 26  ในการจัดทำโครงการหรือแผนงานของส่วนราชการหรือหน่วยงานใด

ในพื้นที่ตำบลใด ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้นคำนึงถึงแผนพัฒนาตำบลนั้นด้วย

 

มาตรา 27  ในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตำบล ให้ประธานสภาตำบลเป็น

ผู้รับผิดชอบดำเนินกิจการตามมติของสภาตำบล แต่สภาตำบลอาจมอบหมายให้สมาชิกสภาตำบลผู้อื่นดำเนินกิจการแทนเฉพาะกรณีได้

ในการทำนิติกรรมของสภาตำบล ให้ประธานสภาตำบล เลขานุการสภาตำบล

และสมาชิกสภาตำบลอีกหนึ่งคนร่วมกันมีอำนาจกระทำการแทนสภาตำบล  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตาม

ระเบียบของกระทรวงมหาดไทย

 

มาตรา 28  เมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด สภาตำบลอาจทำ

กิจการนอกเขตสภาตำบล หรือร่วมกับสภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วน

จังหวัด หรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่นเพื่อทำกิจการร่วมกันได้เมื่อได้รับความ

ยินยอมจากสภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และกิจการนั้นเป็นกิจการที่จำเป็นต้องทำและเป็นการเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน

 

ส่วนที่ 3

รายได้และรายจ่ายของสภาตำบล

—————

                    มาตรา 29  สภาตำบลมีรายได้ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดสรรให้ตาม

หลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ดังต่อไปนี้

(1) ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย อากรการฆ่าสัตว์และ

ผลประโยชน์อื่นอันเกิดจากการฆ่าสัตว์ที่จัดเก็บได้ในตำบลนั้น

(2) ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับ ตามที่จะมีกฎหมายกำหนดไว้ที่

จัดเก็บได้ในตำบลนั้น

(3) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนันที่เก็บเพิ่มขึ้น

ตามข้อบัญญัติจังหวัดในเขตตำบลนั้น

(4) ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รับ

จัดสรร

(5) ภาษีสุรา และภาษีสรรพสามิต ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รับจัดสรร

(6) ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อน ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รับจัดสรร

 

มาตรา 30  ทุกปีงบประมาณให้รัฐบาลจัดสรรเงินให้แก่สภาตำบลเป็นเงินอุดหนุน

 

มาตรา 31  สภาตำบลอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้

(1) รายได้จากทรัพย์สินของสภาตำบล

(2) รายได้จากสาธารณูปโภคของสภาตำบล

(3) เงินและทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้

(4) เงินอุดหนุนและรายได้อื่นตามที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐจัดสรรให้

(5) รายได้อื่นตามที่จะมีกฎหมายกำหนดให้เป็นของสภาตำบล

 

มาตรา 32  รายได้ของสภาตำบล ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี โดยตราเป็น

พระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร และไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

 

มาตรา 33  สภาตำบลอาจมีรายจ่าย ดังต่อไปนี้

(1) เงินเดือน

(2) ค่าจ้าง

(3) เงินค่าตอบแทนอื่น ๆ

(4) ค่าใช้สอย

(5) ค่าวัสดุ

(6) ค่าครุภัณฑ์

(7) ค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และทรัพย์สินอื่น ๆ

(8) ค่าสาธารณูปโภค

(9) เงินอุดหนุนหน่วยงานอื่น

 

(10) รายจ่ายอื่นใดตามข้อผูกพัน หรือตามที่มีกฎหมายหรือระเบียบของกระทรวง

มหาดไทยกำหนดไว้

 

มาตรา 34  เงินค่าตอบแทนประธานสภาตำบล รองประธานสภาตำบล สมาชิก

สภาตำบลและเลขานุการสภาตำบล ให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย

 

มาตรา 35  งบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของสภา

ตำบลให้จัดทำเป็นข้อบังคับตามระเบียบและวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

ถ้าในระหว่างปีงบประมาณใด รายจ่ายซึ่งกำหนดไว้ในงบประมาณไม่พอใช้จ่าย

ประจำปีนั้น หรือมีความจำเป็นต้องตั้งรายจ่ายขึ้นใหม่ระหว่างปีงบประมาณให้จัดทำข้อบังคับ

งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

 

เมื่อสภาตำบลจัดทำร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบังคับ

งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเสร็จแล้ว ให้เสนอนายอำเภอเพื่ออนุมัติ

ถ้าข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกไม่ทันปีใหม่ ให้ใช้ข้อบังคับ

งบประมาณรายจ่ายประจำปีก่อนนั้นไปพลางก่อน

 

มาตรา 36  ให้กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบว่าด้วยการคลัง การงบประมาณ

การรักษาทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจัดหาพัสดุและการจ้างเหมา

กระทรวงมหาดไทยจะออกระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานอื่น ๆ ของสภาตำบล

ให้สภาตำบลต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

ในการออกระเบียบตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คำนึงถึงลักษณะของพื้นที่

จำนวนประชากร รายได้ ความคล่องตัว และความมีประสิทธิภาพในการบริหารงานของสภาตำบล

ด้วย

 

มาตรา 37  ให้กระทรวงมหาดไทยจัดให้มีการตรวจสอบการคลัง การบัญชี หรือ

การเงินอื่น ๆ ของสภาตำบล

 

 

 

ส่วนที่ 4

การกำกับดูแลสภาตำบล

—————

 

มาตรา 38  นายอำเภอมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตำบลให้เป็น

ไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ

ในกรณีที่ปรากฏว่าการดำเนินการของสภาตำบลเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของทาง

ราชการ นายอำเภอมีอำนาจยับยั้งการดำเนินการดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวได้และรายงานไปยัง

ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อวินิจฉัย

ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการดำเนินการของสภาตำบลไม่ชอบด้วย

กฎหมาย ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ

ของทางราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งการให้สภาตำบลระงับการดำเนินการดังกล่าว

ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการดำเนินการของสภาตำบลเป็นไปโดยชอบ

แล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งเพิกถอนการยับยั้งของนายอำเภอ แต่ถ้านายอำเภอไม่รายงานผู้ว่า

ราชการจังหวัดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ยับยั้ง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดไม่วินิจฉัยภายในสามสิบ

วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ให้การยับยั้งของนายอำเภอและอำนาจสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น

อันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว

 

มาตรา 39  หากปรากฏว่าสภาตำบลกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือ

สวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ผู้ว่า

ราชการจังหวัดอาจสั่งยุบสภาตำบลได้ตามคำเสนอแนะของนายอำเภอ และเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งยุบสภาตำบลแล้วให้สภาตำบลยังคงประกอบด้วยสมาชิกสภาตำบลโดยตำแหน่งทั้งหมดจนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งใหม่

ในกรณีที่การยุบสภาตำบลตามวรรคหนึ่งเป็นผลจากการกระทำของกำนัน ผู้ใหญ่

บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล ซึ่งเป็นสมาชิกสภาตำบลโดยตำแหน่ง หรือบุคคลดังกล่าวได้ร่วม

กระทำการด้วย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้บุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล แล้วแต่กรณี โดยให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากตำแหน่งเพราะบกพร่องในทางความประพฤติหรือความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และถ้าสมาชิกสภาตำบลโดยตำแหน่งเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาตำบลโดย

ตำแหน่งทั้งหมด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งบุคคลตามจำนวนที่เห็นสมควรเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่

กับสมาชิกสภาตำบลโดยตำแหน่งที่เหลืออยู่จนกว่าจะมีการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์

ประจำตำบลและสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งใหม่

 

หมวด 2

องค์การบริหารส่วนตำบล

—————

 

มาตรา 40  สภาตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมา

ติดต่อกันสามปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทหรือตามเกณฑ์รายได้เฉลี่ยในวรรคสอง

อาจจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลได้ โดยทำเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทยและให้

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในประกาศนั้นให้ระบุชื่อและเขตขององค์การบริหารส่วนตำบล

ไว้ด้วย

การเปลี่ยนแปลงเกณฑ์รายได้เฉลี่ยของสภาตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็น

ประกาศของกระทรวงมหาดไทยและให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

มาตรา 41  สภาตำบลที่ได้จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา 40

ให้พ้นจากสภาพแห่งสภาตำบลนับแต่วันที่ได้ประกาศจัดตั้งขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล

เป็นต้นไป

บรรดางบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิ สิทธิเรียกร้อง หนี้ และเจ้าหน้าที่ของสภา

ตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้โอนไปเป็นขององค์การบริหารส่วนตำบล

 

มาตรา 41 ทวิ* สภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลอาจรวมกับองค์การ

บริหารส่วนตำบลที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบลนั้น โดยให้นำมาตรา 40 และมาตรา 41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

*[มาตรา 41 ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 41 ตรี* สภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลอาจรวมกับหน่วยการ

บริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันได้ตามเจตนารมณ์ของ

ประชาชนในเขตตำบลนั้น โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและให้กำหนดเขตใหม่ของหน่วย

การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นไว้ในพระราชกฤษฎีกาด้วย

ให้นำมาตรา 41 และมาตรา 42 วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับกับการ

รวมตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

 

 

*[มาตรา 41 ตรี เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 41 จัตวา* องค์การบริหารส่วนตำบลใดมีจำนวนประชากรทั้งหมดไม่ถึง

สองพันคน ทั้งเป็นเหตุทำให้ไม่สามารถที่จะดำเนินการบริหารงานพื้นที่นั้นให้มีประสิทธิภาพใน

ลักษณะขององค์การบริหารส่วนตำบลได้ ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศยุบองค์การบริหารส่วน

ตำบลดังกล่าว โดยให้รวมพื้นที่เข้ากับองค์การบริหารส่วนตำบลอื่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขต

อำเภอเดียวกัน หรือให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบองค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าว โดยให้รวม

พื้นที่เข้ากับหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันตาม

เจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบลนั้น ทั้งนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว

ให้นำมาตรา 41 และมาตรา 42 วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับกับการยุบและ

รวมองค์การบริหารส่วนตำบล หรือการยุบและรวมองค์การบริหารส่วนตำบลกับหน่วยการบริหาร

ราชการส่วนท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

*[มาตรา 41 จัตวา เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 42  ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการเทศบาล อาจจัดตั้งองค์การ

บริหารส่วนตำบลขึ้นเป็นเทศบาลได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

องค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้จัดตั้งเป็นเทศบาลตามวรรคหนึ่ง ให้พ้นจาก

สภาพแห่งองค์การบริหารส่วนตำบลนับแต่วันที่ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นเป็นเทศบาล

เป็นต้นไป

บรรดางบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิ สิทธิเรียกร้อง หนี้ พนักงานส่วนตำบล และ

ลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้โอนไปเป็นของเทศบาลที่จัดตั้งขึ้นนั้น

บรรดาข้อบังคับตำบลที่ได้ใช้บังคับในเรื่องใดอยู่ก่อนแล้ว ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อ

ไปเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้มีการตราเทศบัญญัติในเรื่องนั้นขึ้นใหม่

 

มาตรา 43  องค์การบริหารส่วนตำบลมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหาร

ส่วนท้องถิ่น

 

มาตรา 44  องค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

และคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล

 

 

ส่วนที่ 1

สภาองค์การบริหารส่วนตำบล

—————

 

มาตรา 45* สภาองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การ

บริหารส่วนตำบล จำนวนหมู่บ้านละสองคน ซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละ

หมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น

ในการที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเพียงหนึ่งหมู่บ้านให้สภาองค์การ

บริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนหกคน และในกรณี

ที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเพียงสองหมู่บ้านให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบ

ด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนหมู่บ้านละสามคน

หลักเกณฑ์และวิธีการสมัครรับเลือกตั้งและการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมาย

ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

อายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง

*[มาตรา 45  แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 46  สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาตำบลเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารกิจการของ

องค์การบริหารส่วนตำบล

(2) พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับตำบล ร่างข้อบังคับงบประมาณ

รายจ่ายประจำปี และร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

(3) ควบคุมการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารให้เป็นไปตามนโยบายและ

แผนพัฒนาตำบลตาม (1) และกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ

 

มาตรา 47* ให้นำบทบัญญัติมาตรา 8 มาตรา 13 มาตรา 14 และมาตรา 15

มาใช้บังคับกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และการเลือกตั้งสมาชิก

สภาองค์การบริหารส่วนตำบลด้วยโดยอนุโลม

*[มาตรา 47 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 47 ทวิ* ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

ต้อง

(1) มีคุณสมบัติตามมาตรา 9 (1) และ (2)

(2) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9 (3) (4) (5) (6) (7) (9) หรือ (10)

(3) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับองค์การบริหาร

ส่วนตำบลที่ตนสมัครรับเลือกตั้งหรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้น

(4) ไม่เคยถูกผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ออกจากตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ

แพทย์ประจำตำบล เว้นแต่จะพ้นห้าปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งจนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

(5) ไม่เคยถูกสภาตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาตำบล หรือไม่เคย

ถูกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

เว้นแต่จะพ้นห้าปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งจนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

*[มาตรา 47 ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 47 ตรี* สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงเมื่อ

(1) ถึงคราวออกตามอายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือมีการยุบสภา

องค์การบริหารส่วนตำบล

(2) ตาย

(3) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายอำเภอ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าพ้นจาก

ตำแหน่งนับแต่วันลาออก

(4) เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญากับองค์การบริหาร

ส่วนตำบลที่ตนดำรงตำแหน่งหรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้น

(5) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 47 ทวิ

(6) มิได้อยู่ประจำในหมู่บ้านที่ได้รับเลือกตั้งเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินหกเดือน

(7) ขาดประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลติดต่อกันสามครั้งโดยไม่มีเหตุผล

อันสมควร

(8) สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งเพราะมีความประพฤติ

ในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย หรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยแก่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือ

กระทำการอันเสื่อมเสียประโยชน์ของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลโดยมีสมาชิกสภาองค์การ

บริหารส่วนตำบลจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอ

ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณา และมติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่

ของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

(9) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลได้ลงคะแนนเสียง

ให้พ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหาร

ท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง

เมื่อมีกรณีสงสัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใด

สิ้นสุดลงตาม (4) (5) (6) หรือ (7) ให้นายอำเภอสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว คำวินิจฉัยของ

นายอำเภอให้เป็นที่สุด

ในกรณีที่สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใดสิ้นสุดลงตาม

(8) ผู้นั้นอาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไปยังผู้ว่าราชการ

จังหวัดได้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติโดยระบุข้อโต้แย้งและ

ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายประกอบด้วย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว ใน

กรณีดังกล่าวยังไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 14 ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 47

จนกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้มีคำวินิจฉัยแล้ว

ในกรณีที่สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงตาม (9)

พร้อมกัน ให้ถือว่าเป็นการยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

*[มาตรา 47 ตรี เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 48  สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีประธานสภาและรองประธานสภาคน

หนึ่งซึ่งเลือกจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลให้นายอำเภอแต่งตั้งประธานและรอง

ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

 

มาตรา 49  ประธานและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีวาระการ

ดำรงตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันที่ได้รับเลือกเป็นประธานหรือรองประธานสภาองค์การ

บริหารส่วนตำบล

 

มาตรา 50  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานและรองประธานสภา

องค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(1) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายอำเภอ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าพ้นจาก

ตำแหน่งนับแต่วันลาออก

(2) พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา 12 ซึ่งได้

นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 47

 

(3) ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร

 

มาตรา 51  เมื่อตำแหน่งประธานหรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

ว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากครบวาระ ให้มีการเลือกประธานหรือรองประธานสภาองค์การ

บริหารส่วนตำบลแทนตำแหน่งที่ว่างภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง และให้ผู้ซึ่งได้

รับเลือกแทนนั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

 

มาตรา 52  ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ดำเนินการประชุมให้

เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่กระทำกิจการแทนประธาน

สภาองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่

อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือตามที่ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมอบหมาย

เมื่อประธานและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไม่อยู่ในที่ประชุม ให้

สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลที่มาประชุมเลือกกันเองเป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

 

มาตรา 53  ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญสองสมัย หรือหลายสมัยแล้วแต่สภา

องค์การบริหารส่วนตำบลจะกำหนด แต่ต้องไม่เกินสี่สมัย วันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีให้

สภาองค์การบริหารส่วนตำบลกำหนด

การประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลครั้งแรก ต้องกำหนดให้สมาชิกได้มา

ประชุมภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่ง ๆ ให้มีกำหนดไม่เกินสิบห้าวัน แต่ถ้าจะขยายเวลา

ออกไปอีก จะต้องได้รับอนุญาตจากนายอำเภอ

 

มาตรา 54  ให้ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้เรียกประชุมสภา

องค์การบริหารส่วนตำบลตามสมัยประชุม และเป็นผู้เปิดหรือปิดประชุม

ในกรณีที่ยังไม่มีประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือประธานสภา

องค์การบริหารส่วนตำบลไม่เรียกประชุมตามกฎหมาย ให้นายอำเภอเป็นผู้เรียกประชุม และเป็น

ผู้เปิดหรือปิดประชุม

มาตรา 55  นอกจากสมัยประชุมสามัญแล้ว เมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อ

ประโยชน์ขององค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประธาน

กรรมการบริหาร หรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีจำนวนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน

สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ อาจทำคำร้องยื่นต่อนายอำเภอขอให้เปิด

ประชุมวิสามัญ ให้นายอำเภอพิจารณา ถ้าเห็นสมควรก็ให้นายอำเภอเรียกประชุมวิสามัญได้

สมัยประชุมวิสามัญให้กำหนดไม่เกินสิบห้าวัน แต่ถ้าจะขยายเวลาออกไปอีก

จะต้องได้รับอนุญาตจากนายอำเภอ

 

มาตรา 56  การประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลต้องมีสมาชิกสภาองค์การ

บริหารส่วนตำบลมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จึงจะเป็นองค์ประชุม

ให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 18 วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับกับการ

ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลด้วยโดยอนุโลม

 

มาตรา 57  ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหาร

ส่วนตำบลคนหนึ่งเป็นเลขานุการองค์การบริหารส่วนตำบล

สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งได้รับเลือกเป็นเลขานุการสภาองค์การ

บริหารส่วนตำบลตามวรรคหนึ่งจะดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารในขณะเดียวกันอีกมิได้

เลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการและการ

จัดการประชุมและงานอื่นใดตามที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมอบหมาย

ส่วนที่ 2

คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล

—————

 

มาตรา 58* คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วย

ประธานกรรมการบริหารคนหนึ่งและกรรมการบริหารจำนวนสองคน ซึ่งสภาองค์การบริหาร

ส่วนตำบลเลือกจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแล้วเสนอให้นายอำเภอแต่งตั้ง

ให้ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเลขานุการคณะกรรมการบริหาร

การประชุมและการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารให้เป็นไปตามระเบียบ

ของกระทรวงมหาดไทย

*[มาตรา 58 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 59  คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) บริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามมติข้อบังคับและ

แผนพัฒนาตำบล และรับผิดชอบการบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบลต่อสภา

องค์การบริหารส่วนตำบล

(2) จัดทำแผนพัฒนาตำบลและงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อเสนอให้สภา

องค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาให้ความเห็นชอบ

(3) รายงานผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายเงินให้สภาองค์การบริหารส่วน

ตำบลทราบอย่างน้อยปีละสองครั้ง

(4) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ทางราชการมอบหมาย

 

มาตรา 60  ให้ประธานกรรมการบริหารเป็นผู้แทนขององค์การบริหารส่วนตำบล

ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติ

หน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการบริหารแต่งตั้งกรรมการบริหารคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน

ในกรณีที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ หรือคำสั่งใด แต่งตั้งให้

ประธานกรรมการบริหารเป็นกรรมการหรือให้มีอำนาจหน้าที่อย่างใด ให้ผู้รักษาราชการแทน

ทำหน้าที่กรรมการหรือมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับประธานกรรมการบริหารในระหว่างรักษา

ราชการแทนด้วย

 

มาตรา 61* [ยกเลิกความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 62* [ยกเลิกความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 63* [ยกเลิกความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 64* กรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ถึงคราวออกตามอายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

(2) มีการยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

(3) สมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสิ้นสุดลงพร้อมกัน

ตามมาตรา 47 ตรี (9)

(4) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้คณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 92

(5) คณะกรรมการบริหารลาออก และในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าพ้นจากตำแหน่ง

นับแต่วันที่คณะกรรมการบริหารมีมติลาออก

(6) ความเป็นกรรมการบริหารของประธานกรรมการบริหารสิ้นสุดลง

(7) สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียง

ไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

(8) สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติไม่รับหลักการแห่งร่างข้อบังคับ

งบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมที่คณะกรรมการบริหาร

เสนอ และผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือสภาองค์การ

บริหารส่วนตำบลไม่รับหลักการแห่งร่างข้อบังคับงบประมาณดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

ในกรณีที่มีคณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งตาม (1) (2) (3) (5) (6) (7) หรือ

(8) คณะกรรมการบริหารนั้นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินกิจการต่อไปจนกว่าคณะกรรมการ

บริหารที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

เมื่อคณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งตาม (4) (5) (6) (7) หรือ (8) ให้

สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นคณะกรรมการบริหารขึ้นใหม่ แล้วเสนอให้นายอำเภอแต่งตั้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง และถ้าพ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันแล้วไม่อาจแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารดังกล่าวได้โดยมีสาเหตุสำคัญจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ให้นายอำเภอเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณาสั่งยุบสภา

องค์การบริหารส่วนตำบล

เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคสามหรือ

กรณีที่คณะกรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งตาม (2) หรือ (3) และนายอำเภอเห็นว่าการ

ให้คณะกรรมการบริหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามวรรคสองดำเนินกิจการต่อไป จะเป็นการเสียหาย

แก่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือราชการ นายอำเภอจะสั่งให้คณะกรรมการบริหารนั้นพ้น

จากหน้าที่และแต่งตั้งบุคคลที่เห็นสมควรเป็นประธานกรรมการบริหารคนหนึ่งและกรรมการ

บริหารจำนวนสองคนประกอบเป็นคณะกรรมการบริหาร เพื่อดำเนินกิจการชั่วคราวจนกว่า

คณะกรรมการบริหารที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ก็ได้

ในระหว่างที่ไม่มีคณะกรรมการบริหาร ให้ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล

ทำหน้าที่ของประธานกรรมการบริหารเท่าที่จำเป็นได้เป็นการชั่วคราว  จนกว่าคณะกรรมการ

บริหารที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

 

*[มาตรา 64  แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 64 ทวิ* นอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 64 แล้ว ความเป็นกรรมการบริหาร

สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ

(1) พ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

(2) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายอำเภอ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าพ้นจาก

ตำแหน่งนับตั้งแต่วันลาออก

(3) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้กรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 92

(4) สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียง

ไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

(5) ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลได้ลงคะแนนเสียงให้

พ้นจากตำแหน่งตามกฏหมายเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหาร

ท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง

ในกรณีที่สมาชิกภาพของกรรมการบริหารผู้ใดสิ้นสุดลงตาม (4) ผู้นั้นอาจ

อุทธรณ์หรือโต้แย้งมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดได้ภายใน

สิบห้าวันนับแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติ โดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือ

ข้อกฎหมายประกอบด้วย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนและวินิจฉัยโดยเร็ว ในกรณีดังกล่าว

ยังไม่ต้องดำเนินการเลือกกรรมการบริหารแทนตำแหน่งที่ว่างจนกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้มี

คำวินิจฉัยแล้ว

*[มาตรา 64 ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 65  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้สมาชิกสภาองค์การ

บริหารส่วนตำบลและกรรมการบริหารเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 

ส่วนที่ 3

อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล

—————

 

มาตรา 66  องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้ง

ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

 

มาตรา 67  ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย องค์การบริหารส่วนตำบล มีหน้าที่

ต้องทำในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก

(2) รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งกำจัด

มูลฝอยและสิ่งปฏิกูล

(3) ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ

(4) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

(5) ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

(6) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

(7) คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

*(8) บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของ

ท้องถิ่น

*(9) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมายโดยจัดสรรงบประมาณหรือ

บุคลากรให้ตามความจำเป็นและสมควร

*[อนุ (8) ของมาตรา 67 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3)

พ.ศ. 2542 และอนุ (9) เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 68  ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย องค์การบริหารส่วนตำบลอาจจัดทำกิจการ

ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ดังต่อไปนี้

(1) ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร

(2) ให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น

(3) ให้มีและบำรุงรักษาทางระบายน้ำ

(4) ให้มีและบำรุงสถานที่ประชุม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจและสวนสาธารณะ

(5) ให้มีและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรและกิจการสหกรณ์

(6) ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมในครอบครัว

(7) บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร

(8) การคุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

(9) หาผลประโยชน์จากทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตำบล

(10) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือ และท่าข้าม

(11) กิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์

*(12) การท่องเที่ยว

*(13) การผังเมือง

*[อนุ (12) (13) เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 69  อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา 66 มาตรา 67

และมาตรา 68 นั้น ไม่เป็นการตัดอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์การหรือ

หน่วยงานของรัฐ ในอันที่จะดำเนินกิจการใด ๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในตำบล แต่ต้องแจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลทราบล่วงหน้าตามสมควร ในกรณีนี้หากองค์การบริหาร

ส่วนตำบลมีความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการดังกล่าว ให้กระทรวง ทบวง กรม หรือองค์การ

หรือหน่วยงานของรัฐ นำความเห็นขององค์การบริหารส่วนตำบลไปประกอบการพิจารณาดำเนิน

กิจการนั้นด้วย

 

มาตรา 70  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้องค์การ

บริหารส่วนตำบลมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารจากทางราชการในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนิน

กิจการของทางราชการในตำบล เว้นแต่ข้อมูลหรือข่าวสารที่ทางราชการถือว่าเป็นความลับเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ

 

มาตรา 71  องค์การบริหารส่วนตำบลอาจออกข้อบังคับตำบลเพื่อใช้บังคับใน

ตำบลได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรืออำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล ในการนี้จะ

กำหนดค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บและกำหนดโทษปรับผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้แต่มิให้กำหนดโทษปรับ

เกินห้าร้อยบาท

*ร่างข้อบังคับตำบลจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะกรรมการบริหาร หรือสมาชิกสภา

องค์การบริหารส่วนตำบล หรือราษฎรในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายเกี่ยวกับการ

เข้าชื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น

เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายอำเภอให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับ

ตำบลตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ประธานคณะกรรมการบริหารลงชื่อและประกาศเป็นข้อบังคับตำบล

ต่อไป

ในกรณีที่นายอำเภอไม่เห็นชอบด้วยกับร่างข้อบังคับตำบลใด ให้ส่งคืนสภา

องค์การบริหารส่วนตำบลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่นายอำเภอได้รับร่างข้อบังคับตำบลดังกล่าว

เพื่อให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาทบทวนร่างข้อบังคับตำบลนั้นใหม่ แต่ถ้าเป็นร่าง

ข้อบังคับตำบลที่กำหนดให้มีโทษปรับตามวรรคหนึ่ง เมื่อนายอำเภอไม่เห็นชอบด้วย ให้ร่าง

ข้อบังคับตำบลนั้นเป็นอันตกไป

เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาทบทวนร่างข้อบังคับตำบลตามวรรคสี่

แล้ว มีมติยืนยันตามร่างข้อบังคับตำบลเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวน

สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ประธานคณะกรรมการบริหารลงชื่อ

และประกาศเป็นข้อบังคับตำบลได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากนายอำเภอ แต่ถ้าสภาองค์การ

บริหารส่วนตำบลไม่ยืนยันภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบังคับตำบลคืนจากนายอำเภอ

หรือยืนยันด้วยคะแนนเสียงน้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ร่างข้อบังคับตำบลนั้นเป็นอันตกไป

*[วรรคสองของมาตรา 71 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3)

พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 72  ให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีพนักงานส่วนตำบลและอาจจัดแบ่งการ

บริหารงานออกเป็น

(1) สำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล

(2) ส่วนต่าง ๆ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลได้ตั้งขึ้น

ระเบียบพนักงานส่วนตำบลให้ตราขึ้นเป็นพระราชกฤษฎีกา

เพื่อประโยชน์แก่กิจการขององค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล

อาจขอให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ

หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ไปดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติกิจการขององค์การบริหารส่วน

ตำบลเป็นการชั่วคราวได้โดยไม่ขาดจากต้นสังกัดเดิม  ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจ

อนุญาตได้ตามความจำเป็น และในกรณีที่เป็นข้าราชการซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดให้กระทรวงมหาดไทยทำความตกลงกับหน่วยงานต้นสังกัดก่อนแต่งตั้ง

 

มาตรา 73  องค์การบริหารส่วนตำบลอาจทำกิจการนอกเขตองค์การบริหาร

ส่วนตำบล หรือร่วมกับสภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ

หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น เพื่อกระทำกิจการร่วมกันได้  ทั้งนี้ เมื่อได้รับความ

ยินยอมจากสภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และกิจการนั้นเป็นกิจการที่จำเป็นต้องทำและเป็นการเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน

 

 

ส่วนที่ 4

รายได้และรายจ่ายขององค์การบริหารส่วนตำบล

—————

 

มาตรา 74* ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย อากรการฆ่าสัตว์

และค่าธรรมเนียมรวมถึงผลประโยชน์อื่นอันเกิดจากการฆ่าสัตว์  ทั้งนี้ ในเขตองค์การบริหารส่วน

ตำบลใด เมื่อได้มีการจัดเก็บตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นแล้วให้เป็นรายได้ขององค์การบริหาร

ส่วนตำบลนั้น

ในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินขององค์การบริหารส่วน

ตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานกรรมการบริหารมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับอำนาจและหน้าที่

ของนายกเทศมนตรีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่และกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินและให้คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจพิจารณาชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลอาจมอบอำนาจและหน้าที่ดังกล่าวให้หน่วยงานอื่นของรัฐดำเนินการแทนก็ได้ และให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่กำหนดในมาตรา 81

*[มาตรา 74 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 75  ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อนที่จัดเก็บได้ในจังหวัดใด

ให้จัดสรรให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วย

การนั้น

 

มาตรา 76  องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจออกข้อบังคับตำบลเพื่อเก็บภาษี

อากรและค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละสิบของภาษีอากรและค่าธรรมเนียมประเภทใดประเภทหนึ่งหรือทุกประเภท ดังต่อไปนี้

(1) ภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากรซึ่งสถานประกอบการตั้งอยู่ในองค์การ

บริหารส่วนตำบล

(2) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุราซึ่งร้านขายสุราตั้งอยู่

ในองค์การบริหารส่วนตำบล

(3) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในการเล่นการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน

ซึ่งสถานที่เล่นการพนันอยู่ในองค์การบริหารส่วนตำบล

การเสียภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรานี้ เศษของหนึ่งบาทให้ปัดทิ้ง

ภาษีอากรและค่าธรรมเนียมตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นภาษีอากรและค่าธรรมเนียม

ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

 

มาตรา 77* รายได้จากค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล เงินอากร

ประทานบัตร ใบอนุญาตและอาชญาบัตรตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ค่าภาคหลวงและ

ค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตาม

ประมวลกฎหมายที่ดินที่เก็บในองค์การบริหารส่วนตำบลใด ให้เป็นรายได้ขององค์การบริหาร

ส่วนตำบลนั้น

*[มาตรา 77 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 78  ค่าภาคหลวงแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ และค่าภาคหลวงปิโตรเลียม

ตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม  ทั้งนี้ ในองค์การบริหารส่วนตำบลใด เมื่อได้มีการจัดเก็บตาม

กฎหมายว่าด้วยการนั้นแล้ว ให้จัดสรรให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้นตามหลักเกณฑ์และ

วิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา 79  เงินที่เก็บตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติในองค์การบริหารส่วน

ตำบลใด ให้แบ่งให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน

กฎกระทรวง

 

มาตรา 80  องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจออกข้อบังคับตำบลเพื่อเก็บภาษี

มูลค่าเพิ่ม โดยให้กำหนดเป็นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นจากอัตราที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากรดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่ประมวลรัษฎากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละศูนย์ ให้

องค์การบริหารส่วนตำบลเก็บในอัตราร้อยละศูนย์

(2) ในกรณีที่ประมวลรัษฎากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราอื่น ให้องค์การ

บริหารส่วนตำบลเก็บหนึ่งในเก้าของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บตามประมวลรัษฎากร

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บเพิ่มขึ้นตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวล

รัษฎากร

 

มาตรา 81  องค์การบริหารส่วนตำบลจะมอบให้กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีหน้าที่

จัดเก็บภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียม เรียกเก็บภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมเพื่อองค์การบริหารส่วน

ตำบลก็ได้  ในกรณีเช่นนี้เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ให้กระทรวง ทบวง

กรมนั้นส่งมอบให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล

 

มาตรา 82  องค์การบริหารส่วนตำบลอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้

(1) รายได้จากทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตำบล

(2) รายได้จากสาธารณูปโภคขององค์การบริหารส่วนตำบล

(3) รายได้จากกิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์ขององค์การบริหารส่วนตำบล

(4) ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และค่าปรับ ตามที่จะมีกฎหมายกำหนดไว้

(5) เงินและทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้

(6) รายได้อื่นตามที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐจัดสรรให้

(7) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล

(8) รายได้อื่นตามที่จะมีกฎหมายกำหนดให้เป็นขององค์การบริหารส่วนตำบล

 

มาตรา 83  องค์การบริหารส่วนตำบลอาจกู้เงินจากกระทรวง ทบวง กรม องค์การ

หรือนิติบุคคลต่าง ๆ ได้ เมื่อได้รับอนุญาตจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

การกู้เงินตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย

 

มาตรา 84  รายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบล ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร

 

มาตรา 85  องค์การบริหารส่วนตำบลอาจมีรายจ่าย ดังต่อไปนี้

(1) เงินเดือน

(2) ค่าจ้าง

(3) เงินค่าตอบแทนอื่น ๆ

(4) ค่าใช้สอย

(5) ค่าวัสดุ

(6) ค่าครุภัณฑ์

(7) ค่าที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และทรัพย์สินอื่น ๆ

(8) ค่าสาธารณูปโภค

(9) เงินอุดหนุนหน่วยงานอื่น

(10) รายจ่ายอื่นใดตามข้อผูกพัน หรือตามที่มีกฎหมายหรือระเบียบของกระทรวง

มหาดไทยกำหนดไว้

 

มาตรา 86  เงินค่าตอบแทนประธานกรรมการบริหาร สมาชิกสภาองค์การบริหาร

ส่วนตำบล เลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กรรมการบริหาร และเลขานุการคณะกรรม

การบริหารให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย

 

มาตรา 87  งบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของ

องค์การบริหารส่วนตำบลให้จัดทำเป็นข้อบังคับ

และจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะกรรมการบริหารตามระเบียบและวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

ถ้าในระหว่างปีงบประมาณใด รายจ่ายซึ่งกำหนดไว้ในงบประมาณไม่พอใช้จ่าย

ประจำปีนั้น หรือมีความจำเป็นต้องตั้งรายจ่ายขึ้นใหม่ระหว่างปีงบประมาณ ให้จัดทำข้อบังคับ

งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

เมื่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบังคับงบประมาณ

รายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมแล้วให้เสนอนายอำเภอเพื่อขออนุมัติถ้านายอำเภอไม่อนุมัติ ให้นายอำเภอส่งคืนให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อพิจารณาทบทวนร่างข้อบังคับนั้นใหม่ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบังคับดังกล่าว

ในกรณีที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีมติยืนยันตามร่างข้อบังคับงบประมาณ

รายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมให้นายอำเภอส่งร่างข้อบังคับ

งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมไปยังผู้ว่าราชการ

จังหวัดภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลแจ้งมติยืนยัน

ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่าง

ข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งไปยังนายอำเภอเพื่อลงชื่อ

อนุมัติ ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นชอบด้วยกับร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำป

ีหรือร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้ร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำป

ีหรือร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเป็นอันตกไป

ในการพิจารณาร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างข้อบังคับ

งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม สภาองค์การบริหารส่วนตำบลต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน

สามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบังคับนั้น เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วถ้าสภาองค์การ

บริหารส่วนตำบลพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่าสภาองค์การบริหารส่วนตำบลให้ความ

เห็นชอบตามที่คณะกรรมการบริหารเสนอและให้ดำเนินการตามวรรคสามต่อไป

ถ้าข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกไม่ทันปีใหม่ ให้ใช้ข้อบังคับ

งบประมาณรายจ่ายประจำปีก่อนนั้นไปพลางก่อน

 

มาตรา 88  ระเบียบว่าด้วยการคลัง การงบประมาณ การโอน การจัดการทรัพย์สิน

การซื้อ การจ้าง ค่าตอบแทน และค่าจ้าง ให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทยจะออกระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานอื่น ๆ ขององค์การ

บริหารส่วนตำบลให้องค์การบริหารส่วนตำบลต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

ในการออกระเบียบตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คำนึงถึงความเป็นอิสระ ความ

คล่องตัวและความมีประสิทธิภาพในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลด้วย

 

มาตรา 89  ให้นำบทบัญญัติมาตรา 37 มาใช้บังคับกับการตรวจสอบการคลัง

การบัญชี หรือการเงินอื่น ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลด้วยโดยอนุโลม

 

ส่วนที่ 5

การกำกับดูแลองค์การบริหารส่วนตำบล

—————

 

มาตรา 90  ให้นายอำเภอมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การบริหาร

ส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ

ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอตามวรรคหนึ่ง ให้นายอำเภอ

มีอำนาจเรียกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กรรมการบริหาร พนักงานส่วนตำบล และ

ลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลมาชี้แจงหรือสอบสวน  ตลอดจนเรียกรายงานและเอกสาร

ใด ๆจากองค์การบริหารส่วนตำบลมาตรวจสอบได้

 

มาตรา 91* เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล

หรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม นายอำเภอจะรายงานเสนอความเห็นต่อผู้ว่าราชการ

จังหวัดเพื่อยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลก็ได้

เมื่อมีกรณีตามวรรคหนึ่งหรือกรณีอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ผู้ว่า

ราชการจังหวัดมีอำนาจยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและให้แสดงเหตุผลไว้ในคำสั่งด้วย

 

เมื่อมีการยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือถือว่ามีการยุบสภาองค์การบริหาร

ส่วนตำบลตามพระราชบัญญัตินี้ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นใหม่

ภายในสี่สิบห้าวัน

*[มาตรา 91 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

มาตรา 92* หากปรากฏว่าคณะกรรมการบริหารกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบ

เรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจ

หน้าที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจสั่งให้คณะกรรมการบริหารทั้งคณะหรือกรรมการบริหารบางคนพ้น

จากตำแหน่งได้ตามคำเสนอแนะของนายอำเภอ ในกรณีนี้ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบล

ดำเนินการเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นเป็นกรรมการบริหารใหม่ภายในสิบห้าวัน

นับแต่วันที่กรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่ง

*[วรรคสองของมาตรา 92 ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542]

 

บทเฉพาะกาล

—————

                    มาตรา 93  ให้ถือว่าบรรดากรรมการสภาตำบลผู้ทรงคุณวุฒิตามประกาศของ

คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่พระราช

บัญญัตินี้ใช้บังคับ เฉพาะที่อยู่ในเขตตำบลตามพระราชบัญญัตินี้เป็นสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับ

เลือกตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามประกาศของคณะปฏิวัติ

ฉบับที่ 326 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 12 ของพระราช

บัญญัตินี้

 

มาตรา 94  บรรดาบทกฎหมายใดที่อ้างถึงกรรมการสภาตำบลผู้ทรงคุณวุฒิให้

หมายถึงสมาชิกสภาตำบลซึ่งได้รับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา 95  สภาตำบลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326 ลงวันที่ 13

ธันวาคม พ.ศ. 2515 ใด มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกันสามปี

ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท

ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลตามพระราชบัญญัตินี้  ทั้งนี้

ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศรายชื่อสภาตำบลที่จะจัดตั้งเป็นองค์การบริหาร

ส่วนตำบลตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ในระหว่างดำเนินการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคหนึ่ง มิให้นำ

มาตรา 6 มาใช้บังคับแก่ตำบลดังกล่าว และให้สภาตำบลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326

ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวจนถึงวันที่มีการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลครั้งแรก

เมื่อจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้โอนบรรดาสิทธิใน

งบประมาณหรือเงินอุดหนุน ทรัพย์สิน สิทธิ สิทธิเรียกร้อง หนี้ และเจ้าหน้าที่ของสภาตำบลตาม

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ไปเป็นขององค์การบริหาร

ส่วนตำบลที่จัดตั้งขึ้นนั้น

ในวาระเริ่มแรกเป็นเวลาสี่ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมิให้นำความใน

มาตรา 58 วรรคสอง มาใช้บังคับกับองค์การบริหารส่วนตำบลที่จัดตั้งขึ้นตามวรรคหนึ่งหรือตาม

พระราชบัญญัตินี้ และให้กำนันเป็นประธานกรรมการบริหารโดยตำแหน่ง

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

       บัญญัติ บรรทัดฐาน

       รองนายกรัฐมนตรี

———————————————————————————————————

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สภาตำบลซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล

ทำให้การบริหารงานไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาดความคล่องตัวในการ

บริหารงาน สมควรปรับปรุงฐานะของสภาตำบลและการบริหารงานของสภาตำบลเสียใหม่ ให้

สามารถรองรับการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งให้มีการยกฐานะสภาตำบล

ซึ่งมีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นได้

จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

————————————————————–

พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2538

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติในเรื่องอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบล และของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาตำบลตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

[รก.2538/48ก/1/28 พฤศจิกายน 2538]

————————————————————–

พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542

บทเฉพาะกาล

 

มาตรา 22  ในวาระเริ่มแรกเป็นเวลาสี่ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 47 ทวิ (2) เฉพาะลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9 (6) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาใช้บังคับกับผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และถ้าผู้ดำรง

ตำแหน่งตามมาตรา 9 (6) ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ก็ให้พ้นจาก

ตำแหน่งตามมาตรา 9 (6) นับแต่วันเลือกตั้ง

 

มาตรา 23  บรรดาสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและกรรมการบริหารซึ่ง

ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหาร

ส่วนตำบล พ.ศ. 2537

ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามวรรคหนึ่งว่างลง

ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ไม่ต้องดำเนินการเลือกตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างและให้สภาองค์การ

บริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่

ในกรณีที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งว่างลงตามวรรคสอง และเป็น

ประธานกรรมการบริหารหรือกรรมการบริหารด้วย ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเลือกสมาชิก

สภาองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีอยู่เป็นประธานกรรมการบริหารหรือกรรมการบริหาร แล้วแต่

กรณี ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง

ให้ประธานกรรมการบริหารหรือกรรมการบริหารซึ่งได้รับการเลือกขึ้นแทนนั้น

ดำรงตำแหน่งได้เท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

 

มาตรา 24  ในกรณีที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นสมาชิกโดย

ตำแหน่งพ้นจากสมาชิกภาพไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าสภาองค์การบริหาร

ส่วนตำบลประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ และบรรดากิจการที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบล

ดังกล่าวได้กระทำไปในอำนาจหน้าที่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้มีผลใช้บังคับได้

 

มาตรา 25  ในระหว่างที่ไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ

ผู้บริหารท้องถิ่น ให้นำกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับกับการเลือกตั้ง

สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลโดยอนุโลม  ทั้งนี้ ให้อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด

ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ และยกเว้นไม่ต้องเรียกเก็บเงินประกันการสมัคร

การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา 45 ให้ถือเขต

หมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเขตเลือกตั้ง

ใบสมัครและบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ให้เป็นไปตาม

ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

 

มาตรา 26  องค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเหตุจะต้องยุบและรวมกับองค์การ

บริหารส่วนตำบลหรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามมาตรา 41 จัตวา แห่งพระราช

บัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการตามมาตรา 41 จัตวา ดังกล่าวให้แล้วเสร็จ

ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

————————————————————–

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราช

อาณาจักรไทยได้วางหลักการจัดองค์กรปกครองท้องถิ่นให้เป็นไปตามหลักการปกครองตนเอง

ยิ่งขึ้นและให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น สมควรจัดระเบียบบริหาร

ราชการท้องถิ่นระบบองค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายว่าด้วยสภาตำบลและองค์การ

บริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว  จึงจำเป็นต้องตรา

พระราชบัญญัตินี้

[รก.2542/40ก/1/20 พฤษภาคม 2542]

 

อำนาจหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล

องค์การบริหารส่วนตำบล มีชื่อย่อเป็นทางการว่า อบต. มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็น ราชการบริหารส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงฉบับที่ 6 พ.ศ. 2552 โดยยกฐานะจากสภาตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกันสามปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท

รูปแบบองค์การ

องค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล

  1. สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวนหมู่บ้านละสองคน ซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น กรณีที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเพียงหนึ่งหมู่บ้านให้มีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนหกคน และในกรณีมีเพียงสองหมู่บ้านให้มีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล หมู่บ้านละสามคน
  2. องค์การบริหารส่วนตำบลมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หนึ่งคน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง การเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

การบริหาร

กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหาร อบต. (ม.58) ประกอบด้วยนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 1 คน รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 2 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลหรือผู้บริหารท้องถิ่นเรียกว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมาจากการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง

อำนาจหน้าที่ของ อบต.

อบต. มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วน ตำบล พ.ศ. 2537 และ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2542)

    1. พัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (มาตรา 66)
    2. มีหน้าที่ต้องทำตามมาตรา 67 ดังนี้
      1. จัดให้มีและบำรุงทางน้ำและทางบก
      2. การรักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
      3. ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ
      4. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
      5. ส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
      6. ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุและพิการ
      7. คุ้มครอง ดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      8. บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
      9. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมาย
    3. มีหน้าที่ที่อาจทำกิจกรรมในเขต อบต. ตามมาตรา 68 ดังนี้
      1. ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและการเกษตร
      2. ให้มีและบำรุงไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
      3. ให้มีและบำรุงรักษาทางระบายน้ำ
      4. ให้มีและบำรุงสถานที่ประชุม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจและสวนสาธารณะ
      5. ให้มีและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกร และกิจการสหกรณ์
      6. ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมในครอบครัว
      7. บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพ
      8. การคุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
      9. หาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของ อบต.
      10. ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือ และท่าข้าม
      11. กิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์
      12. การท่องเที่ยว
      13. การผังเมือง

อำนาจหน้าที่ตามแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ

พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กำหนดให้ อบต.มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองตามมาตรา 16 ดังนี้

      1. การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
      2. การจัดให้มี และบำรุงรักษาทางบกทางน้ำ และทางระบายน้ำ
      3. การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ
      4. การสาธารณูปโภค และการก่อสร้างอื่นๆ
      5. การสาธารณูปการ
      6. การส่งเสริม การฝึก และการประกอบอาชีพ
      7. คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
      8. การส่งเสริมการท่องเที่ยว
      9. การจัดการศึกษา
      10. การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส
      11. การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
      12. การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัด และการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
      13. การจัดให้มี และบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
      14. การส่งเสริมกีฬา
      15. การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
      16. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น
      17. การรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
      18. การกำจัดมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย
      19. การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล
      20. การจัดให้มี และควบคุมสุสาน และฌาปนสถาน
      21. การควบคุมการเลี้ยงสัตว์
      22. การจัดให้มี และควบคุมการฆ่าสัตว์
      23. การรักษาความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอนามัย โรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่นๆ
      24. การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      25. การผังเมือง
      26. การขนส่ง และการวิศวกรรมจราจร
      27. การดูแลรักษาที่สาธารณะ
      28. การควบคุมอาคาร
      29. การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
      30. การรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน
      31. กิจอื่นใด ที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด