Chinese (Simplified) French German Italian Japanese Korean Lao Malay Myanmar (Burmese) Russian Spanish English Thai

สภาพข้อมูลพื้นฐาน

องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สภาพข้อมูลพื้นฐาน
ด้านกายภาพ   
       ตำบลปากน้ำปราณในอดีตช่วง พ.ศ.2536 เรียกว่า “ปากคลองปราณ” โดยมีชื่อ “วัดปากคลองปราณ” ในปัจจุบันเป็นหลักฐานยืนยัน ที่ตั้งที่ทำการเมืองเดิมติดอยู่ปากแม่น้ำปราณบุรี ครั้นปี พ.ศ.2458 ได้ย้ายที่ว่าการเมืองจากปากแม่น้ำปราณบุรีไปตั้งที่ตำบลเมืองเก่า (ตำบลปราณบุรี) ใกล้สถานีรถไฟปราณบุรี ดังนั้นปากน้ำปราณ จึงเป็นที่ทำการเมืองอยู่ประมาณ 22 ปี ต่อมาการปกครองได้พัฒนามากขึ้นจนได้ยกระดับการปกครองเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ ซึ่งจากเดิมเป็นสภาตำบลปากน้ำปราณ เป็นหน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่นตามนโยบายการกระจายอำนาจสู่หน่วยปกครองขั้นพื้นฐานของรัฐบาลตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2538
ที่ตั้งและอาณาเขต
         องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ ตั้งอยู่ที่ 88/8 หมู่ที่ 3 ตำบลปากน้ำปราณอำเภอปราณบุรี                  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  อาณาเขตการปกครองพื้นที่ประมาณ 47.67 ตารางกิโลเมตร   หรือประมาณ 34,380ไร่                   มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
        ทิศเหนือ             ติดต่อกับ  ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน
        ทิศใต้                 ติดต่อกับ ตำบลสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด     
        ทิศตะวันออก       ติดต่อกับทะเลอ่าวไทย   
        ทิศตะวันตก         ติดต่อกับ  ตำบลวังก์พงและ  ตำบลปราณบุรี
องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ มีอาณาเขตการปกครอง ทั้งหมด 5 หมู่บ้าน
หมู่ที่ 1 บ้านท่าลาดกระดาน
              บ้านท่าลาดกระดาน หมู่ที่ 1 ในอดีตที่ผ่านมาเดิมเป็นหมู่บ้านที่คนในชุมชน และหมู่บ้านใกล้เคียงเข้ามาเลื่อยไม้ และไม้ส่วนใหญ่ที่เลื่อยเป็นไม้กระดานเพื่อนำไปใช้ในการลากโป๊ะ และพื้นที่หมู่บ้านมีลักษณะลาดชัน จึงเป็นที่มา หมู่บ้านท่าลากกระดาน และเพี้ยนมาเป็น ท่าลาดกระดาน จนมาถึงปัจจุบัน
หมู่ที่ 2 บ้านปากน้ำปราณ
            บ้านปากน้ำปราณ หมู่ที่ 2 ในอดีตที่ผ่านมาเดิมมีชื่อเรียกว่า ปากคลองปราณ เนื่องจากมีแม่น้ำปราณบุรีไหลผ่านสู่ปากอ่าวทะเล และยังเป็นที่ตั้งสมาคมประมงแห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ปากน้ำปราณ         มาจนทุกวันนี้
หมู่ที่ 3 บ้านปรือน้อย
           บ้านปรือน้อย หมู่ที่ 3 เป็นหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์ผู้คนส่วนใหญ่อพยพมาจากบ้านหนองใหญ่ อำเภอสามร้อยยอดและอำเภอหัวหิน เพื่อมาตั้งถิ่นฐานทำกิน เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การทำนา ทำสวน ทำไร่ มีแหล่งน้ำะรรมชาติมากมาย จึงเต็มไปด้วยต้นปรือ หรือที่รู้จักกันดีในปัจจุบันว่า ต้นธูปฤาษี เนื่องจากมีต้นปรือจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านปรือน้อย
หมู่ที่ 4 บ้านนหองบัว
บ้านหนองบัว หมู่ที่ 4 เดิมพื้นที่หมู่บ้านหนองบัวเป็นที่นาและมีการขุดสระเพื่อกักขังน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร เมื่อมีสระน้ำก็มีการนำบัวแดงมาปลูกและบัวแดงได้ขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมาก ต่อมาน้ำทะเลท่วมมาถึงพื้นที่ทำนาและสระน้ำหนองน้ำกลายเป็นน้ำกร่อยและดินเค็มไม่สามารถทำนาได้ เหลือเพียงดอกบัวแดงเต็มท้องทุ่ง จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านหนองบัว
หมู่ที่ 5 บ้านสุขสวัสดิ์
บ้านสุขสวัสดิ์ หมู่ที่ 5 เป็นหมุ่บ้านเกิดใหม่แยกมาจากหมู่ที่ 3 บ้านปรือน้อย ด้วยเพราะหมู่ที่ 3 มีพื้นที่มาก และจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยากต่อการปกครอง จึงได้แบ่งเป็นหมู่บ้านใหม่ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2547 ส่วนที่มาของชื่อหมู่บ้านเกิดจากประชาคมลูกบ้าน จึงได้ชื่อสุขสวัสดิ์ ด้วยความหมายที่ว่าอยู่แล้วจะเป็นสุขตลอดไป
ลักษณะภูมิประเทศ
         ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ มีลักษณะเป็นแนวยาวลงมาตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ เป็นพื้นที่ภูเขาลอนราบสลับกับพื้นที่ราบเทลงทะเล มีเขาทุงใหญ่ เขาเบญจพาส เขาเจ้าแม่ทับทิมอยู่ทางเหนือของตำบล และมีเขาปรือน้อย เขากะโหลกอยู่ทางบริเวณตอนใต้ สภาพพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกพืชไร่ เช่น มะพร้าว มะม่วง และสับปะรด เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ อยู่ในเขตมาสุม หรือมีลักษณะอากาศแบบร้อนชื้น โดยทั่วไปไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป ความชื้นปานกลาง โดยอากาศหนาวสุดจะอยู่ในเดือนมกราคม และอากาศร้อนอยู่ในเดือนเมษายน ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมที่พัดผ่านทุกฤดูกาลทำให้เกิด 3 ฤดูกาล
        ฤดูร้อน – เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมิถุนายน
        ฤดูฝน – เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน
        ฤดูหนาว – เดือนะธันวาคม ถึงเดือนมกราคม
ลักษณะของดิน
      ตำบลปากน้ำปราณ เป็นพื้นที่ราบเชิงเขาลงสู่ทะเล ดินมีลักษณะร่วนซุย เหมาะแก่การทำการเกษตร เช่น สวนมะม่วง ไร่สับปะรด พื้นที่ติดแนวชายหาดทะเล ลักษณะของดินจะเป็นดินทรายเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชบางชนิด เช่น ถั่วลิสง มะพร้าว
ลักษณะของแหล่งน้ำ
    ตำบลปากน้ำปราณ มีแม่น้ำปราณไหลผ่านลงสู่ทะเล จำนวน 1 สาย คือ แม่น้ำปราณบุรี แต่ด้วยเป็นปากอ่าวทะเลทำให้แม่น้ำเป็นน้ำกร่อย ไม่สามารถใช้ในการเพาะปลูกได้
ประชากร 
         องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น  6,406 คน
จำแนกเป็นเพศชาย  3,153 คน  เพศหญิง  3,253 คน
จำนวนครัวเรือน  4,252  ครัวเรือน
จำนวนประชากรแฝง ประมาณ  1,000 คน
ส่วนใหญ่นับถือศาสนา  พุทธ ร้อยละ  98
ข้อมูล ณ วันที่ 4  เดือน  มีนาคม พ.ศ.  2563   
(ที่มา : ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ)
การประกอบอาชีพ
         ประชากรส่วนใหญ่ขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ ประมาณร้อยละ 70 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมง รองลงมาได้แก่ ด้านปศุสัตว์ ประมาณร้อยละ 20 ด้านอื่นๆประมาณร้อยละ 10 เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับ   การเพาะปลูก /การเลี้ยงสัตว์ /การประมง เฉลี่ยรายได้ประชากรต่อหัว/ต่อปี ประมาณ 80,000บาท    ที่มา : กองส่งเสริมการเกษตร องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ
การศึกษา
          ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ  มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ถึงระดับประถมศีกษาปีที่ 6  โดยมีโรงเรียนอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ  จำนวน 2 โรงเรียน และ 2 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก คือ มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ถึงระดับมัธยมศึกษา ให้กับประชากรในวัยเรียน  ดังนี้
          -โรงเรียนบ้านปรือน้อย                                  ตั้งอยู่หมู่ที่ 3           สังกัด สพฐ.
          -โรงเรียนบ้านหนองบัว                                  ตั้งอยู่หมู่ที่ 4           สังกัด อบต.
          -ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.ปากน้ำปราณ          ตั้งอยู่หมู่ที่ 3           สังกัด อบต.
          -ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนบ้านหนองบัว      ตั้งอยู่หมู่ที่ 4            สังกัด อบต.
ศาสนาและวัฒนธรรม
วัดมีจำนวน 2 แห่ง  คือ
-วัดสุมนาวาส หรือ วัดเขากะโหลก      ตั้งอยู่ที่หมู่ 4
-วัดเก่าเขาน้อย                                 ตั้งอยู่ที่หมู่ 5
ศาลเจ้ามีจำนวน  2  แห่ง คือ
-ศาลเจ้าแม่ทับทิม                    ตั้งอยู่ที่หมู่ 1
-ศาลเจ้าพ่อหนู                        ตั้งอยู่ที่หมู่ 4                       
ประเพณีและวัฒนธรรม
          ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ มีประเพณีที่สำคัญและองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ จัดกิจกรรมให้กับ ประชาชน คือ ทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ งานวันสงกรานต์ ประเพณีรดน้ำดำหัวขอพรพระและผู้สูงอายุ ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษานำไปถวายวัดในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ  ได้แก่ วัดเขากะโหลก  และวัดเก่าเขาน้อย
เส้นทางคมนาคม (การขนส่งทางรถยนต์ ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ)
         องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ มีเส้นทางคมนาคมที่สำคัญสามารถเดินทางติดต่อกันระหว่าง เทศบาลตำบลปากน้ำปราณ และอำเภอต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถเดินทางได้ทางรถยนต์ บนถนนทางหลวงหมายเลข 4 และทางเรือ ผ่านเส้นทางแม่น้ำปราณบุรี
สภาพทางเศรษฐกิจ
          องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ  มีแนวเขตด้านทิศตะวันตกเป็นภูเขา สภาพพื้นที่จึงเป็นที่ลาดเชิงเขาจากทิศตะวันตกสู่ทิศตะวันออก  ซึ่งติดกับทะเลอ่าวไทย จากสภาพดังกล่าวทำให้เกิดพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งมีทุ่งปรือน้อย  และทุ่งหนองบัว  เป็นที่รับน้ำฝน ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จึงมีอาชีพเกษตร เช่น การเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืช และการประมง ประกอบกับมีแนวชายหาดยาวประมาณ  12 กิโลเมตร ส่งผลให้องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีการลงทุนจากธุรกิจการโรงแรม-รีสอร์ท และการประกอบการด้านการท่องเที่ยวอื่นอีกมากมาย ทำให้ประชาชนมีอาชีพที่หลากหลาย เช่น  อาชีพการเกษตร  อาชีพการประมง  อาชีพค้าขาย  อาชีพรับจ้างทั่วไป
แหล่งท่องเที่ยวในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ
(1) หาดเขากะโหลกและจุดชมวิว เป็นชายหาดที่มีบรรยากาศเงียบสงบ ทางด้านใต้มีเข้าเล็ก ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับกะโหลกอันเป็นที่มาของชื่อ “เขากะโหลก” ซึ่งอยู่ในเขตวนอุทยานท้าวโกษา สามารถขึ้นไปชมจุดชมวิว และมองเห็นชายหาดได้อย่างสวยงาม  นักท่องเที่ยวสามารถเดินศึกษาธรรมชาติบนเขากะโหลก ชมความงดงามและถ้ำหินงอก หินย้อย อีกทั้งชายหาดแห่งนี้มีที่พัก และมีร้านอาหารทะเลหลายร้าน ให้กับนักท่องเที่ยวหลายรูปแบบ
(2) แม่น้ำปราณบุรี  เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ทำให้ระบบธรรมชาติเกิดความสมดุล รวมถึงเป็นแหล่งรวมด้านนิเวศวิทยา เพราะมีน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืดในแม่น้ำสายนี้  ในอดีตแม่น้ำปราณบุรี  ได้ชื่อว่าเป็นแม่น้ำที่มีจระเข้อาศัยอยู่ชุกชุมมาก จนมีคนเรียกจระเข้นี้ว่า “จระเข้ปราณ” บริเวณสองฝั่งแม่น้ำปราณบุรี นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสธรรมชาติป่าชายเลน แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก สัมผัสชีวิตของชาวปากน้ำปราณที่มีความผูกพันกับการทำประมงครั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
(3) ศาลเจ้าแม่ทับทิมทองและจุดชมวิว  เป็นจุดชุมวิวที่สามารถมองเห็นแม่น้ำปราณบุรี และหมู่บ้านปากน้ำปราณได้อย่างชัดเจน และเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่ทับทิมทอง ที่เป็นที่นับถือของชาวตำบลปากน้ำปราณ
(4) ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี   เป็นโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ       ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) น้อมเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงพระชนมายุครบ 72 พรรษา  ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติ และอาคารเฉลิมพระเกียรติและส่วนบริการนักท่องเที่ยว ได้ใช้เรียนรู้ และศึกษาเส้นทางธรรมชาติ และประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
 (5) วนอุทยานปราณบุรี   มีชายหาดที่ขาดสะอาด ร่มรื่น ด้วยแนวสนทอดยาว มีพื้นที่ 700 ไร่ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของทะเล เกาะสิงโต เขาตะเกียบและเขาเต่า  นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย ได้แก่ การล่องเรือชมธรรมชาติ เส้นทางการศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน สัมผัสความงามตามธรรมชาติและมีพันธ์ไม้นานาชนิด ตลอดจนชมวิธีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลอง ทั้งสองฝั่งแม่น้ำปราณบุรี